การเลือกตั้งของลาว ของ สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว)

การเลือกตั้งในลาวนั้นจัดขึ้นทุก 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ โดยให้พลเมืองทุก 50,000 คน (ในแต่ละแขวง) สามารถมีผู้แทนหรือสมาชิกสภาแห่งชาติได้ 1 คน แขวงที่มีพลเมืองน้อยกว่า150,000 คน ให้มีผู้แทนหรือสมาชิกสภาแห่งชาติ 3 คน ตามนโยบายของพรรค - รัฐ การจัดการเลือกตั้งนั้นจะต้องรับประกันได้ว่า สมาชิกสภาแห่งชาติจะต้องประกอบด้วยกลุ่มบุคคลทุกชนชั้น เพศ และเผ่าชน ในอัตราส่วนและจำนวนที่เหมาะสม[44]การเลือกตั้งของลาวนั้น ดังจะสอดคล้องกับสโลแกนที่ว่า “พรรคเลือกคน คนเลือกพรรค” อย่างมาก พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวของลาว[45] จะทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครของพรรคซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่มาเสนอให้ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคนี้มักมีโอกาสจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่ามาก

ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนั้นจะไม่มีสิทธิเสนอชื่อของตนเองเป็นผู้สมัคร แต่จะต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์การจัดตั้งพรรค[46] หรือองค์การจัดตั้งอื่น ๆ เท่านั้น เมื่อองค์การจัดตั้งนั้นเสนอรายชื่อผู้สมัครในนามองค์การจัดตั้งของตน แล้ว (โดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสม) คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคจะทำหน้าที่คัดเลือกและคัดสรรผู้ได้รับการเสนอชื่อเหล่านั้นให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนอกจากนั้น อาจมีผู้สมัครอิสระที่เสนอตนเองเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย แต่มักไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนนัก อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครอิสระนี้จะสมัครในนามอิสระได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพรรคแล้วเท่านั้น[47] (ถ้าคุณสมบัติไม่โดดเด่นพอ อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง) และมักไม่ค่อยมีใครกล้าจะลงเป็นผู้สมัครอิสระเนื่องจากเสี่ยงต่อการตรวจสอบและการเสื่อมเสียชื่อเสียงถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งสูง (อาทิ ข้อหา “อยากดัง” หรือต้องการแสวงหาผลประโยชน์) ผู้สมัครรับเลือกตั้งในลาว (ทั้งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคและผู้สมัครอิสระ) จึงมักจะต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดและเข้มงวด หลักคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ของลาวนั้น ลาวมองว่าผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นควรจะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง มีความซื่อสัตย์ และแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์จนผู้คนยอมรับและร่วมกันเสนอให้เป็นผู้สมัครเพื่อรับการคัดเลือกและ กลั่นกรองจากพรรค ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคนี้จึงเป็นผู้ที่มีฐานต้นทุนทางสังคมสูงและมีผู้รับรองการเสนอชื่อจำนวนมาก มิใช่ใครจะมาสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อก็ได้ ทัศนคติของคนลาวต่อผู้ที่มาสมัครโดยที่ไม่มีใครเสนอชื่อ ไม่มีผู้ชื่นชมในความรู้ความสามารถหรือความซื่อสัตย์ ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ย่อมสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าอาจเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น ผู้สมัครอิสระจึงมักไม่ได้รับความสนใจและมักไม่ได้รับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลักคิดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ดังนั้น จึงอาจมีผู้สมัครอิสระบางท่านที่สามารถพิสูจน์ความสามารถได้เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติแล้ว และมักแสดงความคิดเห็นได้อิสระโดยไม่ขึ้นต่อพรรค

การเลือกตั้งในลาวเป็น “การกาออก” (กาหมายเลขที่จะไม่เลือก) ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดและถัดลงไปจนครบจำนวนที่ต้องเลือกออกจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกแบบนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของลาว แม้อาจสร้างความสับสนบ้างในเขตที่มีผู้สมัครจำนวนมากแต่มีผู้แทนน้อย (อาทิ เขตเลือกตั้งที่ 1 กำแพงนครเวียงจันทน์ มีผู้แทน 15 ท่าน แต่มีผู้สมัคร 21 ท่าน จึงจำเป็นจะต้องกาออก 6 ท่าน) แต่ก็นับว่าสมเหตุผล เพราะบางครั้งการตัดสินใจกาออกก็ตัดสินใจง่ายกว่าเลือกเข้า โดยเฉพาะเขตที่มีจำนวนผู้สมัครใกล้เคียงกับจำนวนผู้แทน

ใกล้เคียง

สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) สภาแห่งชาติเพื่อการคุ้มกันบ้านเกิดเมืองนอน สภาแห่งชาติ (ออสเตรีย) สภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ สภาแห่งชาติแห่งสหภาพพม่า สภาแห่งชาติลิเบีย สภาแห่งชาติกัมพูชา สภาแห่งชาติโซมี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) http://confinder.richmond.edu/admin/docs/laos.pdf http://www.na.gov.la http://www.na.gov.la/lao/chucnang.htm http://www.na.gov.la/lao/lichsu.htm http://www.ipu.org/parline-e/reports/2175_E.htm http://www.undplao.org/whatwedo/demogov.php https://books.google.com/books?id=9x0OEAAAQBAJ&pg=... https://web.archive.org/web/20080730233845/http://... https://en.vietnamplus.vn/vietnam-steps-up-lao-nat...